(*ช่วงนี้ขอพักบทความอี้จิงแป๊บนึง เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลา กับอีกทั้งช่วงนี้ผมต้องใช้วิชาอี้จิงค่อนข้างบ่อย พอถึงเวลาจะเขียนเลยเหนื่อยจะเขียนซะงั้น ขอหลุดไปเรื่องอื่นสลับชั่วคราวครับ)

จริงๆแล้วเป็นเวลานานเหมือนกันที่ผมไม่ได้เขียนบทความเรื่องมวยไท่จี๋ด้วยตัวเอง ด้วยหลายๆสาเหตุ ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะไม่ได้เจอหัวข้อที่น่าสนใจจะเขียน ดังนั้นที่ผ่านมาแม้แต่ในสมัยที่เว็บ xiaochenmen ยังอยู่ บทความทั้งหลายก็ยังเป็นการแปลมาลง นอกจากการเขียนสนุกๆในบางเรื่องที่นึกได้ลงตามบอร์ดเท่านั้นเอง และครั้งนี้ก็ยังเช่นกัน คือเป็นบทความที่เขียนสนุกๆจากหัวเรื่องที่มีการพูดกันขึ้นมากับลูกศิษย์ฝรั่งท่านนึงชื่อว่า Ed

บทความครั้งนี้เริ่มต้นด้วยหัวข้อแปลกๆ ซึ่งขออธิบายก่อนว่า หัวข้อคือ左顾右盼 เป็นวลีที่ใช้เป็นปกติทั่วไป อย่างน้อยก็ซักที่ หรือซักช่วงเวลาในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนละกันครับ หมายความง่ายๆว่า “มองซ้ายแลขวา”

ถ้าแยกคำออกมาดู มันประกอบด้วยคำย่อยลงไปอีก ดังนี้

左 อ่านว่า “จั่ว” หมายถึงซ้าย หรือข้างซ้าย ส่วน顧อ่านว่า “กู้” หมายถึงการหันหน้ามอง ดังนั้น左顧จึงหมายถึง มองไปทางซ้าย

右 อ่านว่า “โย่ว” หมายถึงขวา หรือข้างขวา ส่วน 盼 อ่านว่า “พ่าน” หมายถึงการมองอีกเช่นกัน ดังนั้น  右盼 จึงหมายถึงการแลหรือมองไปทางขวา

ดังนั้น左顧右盼 จึงเป็นวลีพื้นๆที่ใช้กันได้ทั่วไป แปลเป็นว่า “มองซ้ายแลขวา” นั่นเองครัฟ

พล่ามมาตั้งนาน มันเกี่ยวไรกะมวยไทจี๋???!!!

ก็เกี่ยวอยู่ครับ พอดีว่าคำนี้มันเป็นศัพท์เทคนิคในมวยไท่จี๋น่ะสิ….

หลายคนอาจจะโวยวายว่า ไม่เคยได้ยิน…….ว่ามีคำพวกนี้ในมวยไท่จี๋…

ใจเย็นครับ มีแน่ และผมเชื่อว่าคนที่ฝึกไท่จี๋เคยเจอคำนี้แน่ๆ แต่มองผ่านและไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ หรือไม่ก็เข้าใจเป็นคำอื่น

เพราะคำว่ามองซ้ายแลขวานี้ มันถูกจัดหรือวางอยู่ในหลักกลุ่มที่เรียกว่า “อู่ปู้” หรือ 5 ก้าวนั่นแหละครับ ดังนั้นหลายคนจึงเข้าใจผิดไปเลยง่ายๆว่า ไอ้คำว่ามองซ้ายแลขวานั่น มันคือการก้าวเท้าไปทางซ้าย และทางขวา เพราะเอาสองคำนี้ไปสับสนกับคำว่า ก้าวเท้าไปข้างหน้า และถอยเท้าไปข้างหลังนั่นเอง…

ผมคิดถึงเรื่องนี้ และคิดจะเขียนเพราะเช้านี้ Ed มันดันถามว่า “ช่วยอธิบายเรื่อง 5 ก้าวหน่อย?” ผมฮาก่อนเล็กน้อยค่อยอธิบายให้ฟัง
และก็เป็นที่มาของบทความนี่แหละ

เกริ่นไปเยอะแล้ว น่าจะได้เวลาเข้าเรื่องกันซะที….แต่นแต๊น…

อันว่าในมวยไท่จี๋นั้นมีทั้งสิ้น 13 ท่า แบ่งเป็นท่าทั้งแปด เรียกว่าแปดประตูหรือ “ปาเหมิน” มี เผิง, หลีว์, จี่, อ้าน, ไฉ่, เลี๊ยะ, โจ่ว, เค่า สัมพันธ์กับแผนภูมิแปดทิศหรือ “ปากว้า” และส่วนที่เหลือมี 5 ท่า เรียกว่า ห้าก้าวย่าง หรือ “อู่ปู้”

เข้าเรื่องอู่ปู้หรือห้าก้าวย่างแล้วก็ขอขยายความต่อไปว่า แม้จะเรียกว่า ห้าก้าวย่าง แต่ว่าคำว่า”ปู้” หรือก้าวย่างนั้น ปรากฏในเคล็ดความเพียงแค่สองเท่านั้น โดยมีลำดับดังนี้
進步 “จิ้นปู้” หรือก้าวไปข้างหน้า, 退步“ทุ่ยปู้” หรือก้าวไปข้างหลัง, 左顧 หรือมองซ้าย, 右盼 หรือแลขวา และ 中定 “จงติ้ง” หรือตั้งมั่นกลางศูนย์

ดังนั้นที่ว่าก้าวๆเนี่ย มันแค่สองก้าวเองนะเออ… ไม่ได้มีก้าวซ้ายก้าวขวาแต่อย่างใด อย่าได้สับสน….

ดังนั้นที่ถูกเรียกว่า ห้าก้าวย่างก็ควรมีเหตุผลให้เรียกเช่นนั้น  ดังนั้นมาลองดูว่า คำนี้เริ่มมาจากไหนกัน

ออกตัวก่อนนะครับ ผมไม่ขออ้างอิงอะไรจากมวยตระกูลเฉินทั้งสิ้น เพราะทุกวันนี้มวยไท่จี๋ตระกูลอยางเองก็อ้างอิงหลักจากที่อื่นเช่น “ตำรามวยหวังจงเย่” อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกัน

หากลองตรวจสอบจากตำรามวยของท่านหวังจงเย่ ก็พูดถึงหลักต่างๆ แต่ไม่ได้พูดถึง 13 ท่าแต่อย่างใด ดังนั้นไม่เจอที่พูดถึง ห้าก้าวย่าง รวมถึงฉบับที่ อ.อู่อวี๋เซี่ยงเรียบเรียง ก็ไม่ได้พบเห็น…

ทีนี้ที่พบคือ จากตำรามวยไท่จี๋โดย “จางซานฟง” บุคคลระดับเทพนิยายของเรานั่นเอง มีข้อความหนึ่งดังนี้
“ก้าวหน้า, ถอยหลัง, มองซ้าย, แลขวา, กลางตั้งมั่น, คืออู่สิงหรือห้าธาตุ”
…ไม่ได้เรียกว่า “อู่ปู้” หรือ ห้าก้าวย่างแต่อย่างใด…

ที่เขียนรายละเอียดให้ดูไม่ใช่จะมาจับผิดเรื่องคำหรือการตั้งชื่อกระบวนวิชาหรอกครับ มันไร้สาระ แค่จะชี้ให้เห็นเฉยๆ เพราะเมื่อค้นในหลักวิชาเช่นข้อความหลักวิชาของอาจารย์มวยตระกูลหยางเอง ต่างก็เรียกกันว่าห้าก้าวย่างกัน ดังนั้นมันก็ต้องเรียกว่าห้าก้าวย่างหรือ “อู่ปู้” นั่นแหละครับ ไม่ควรเป็นอื่น แต่เราจะมาดูว่า มันมีอะไรอยู่ในนั้น มากไปกว่าแค่ก้าวเท้าไปมาห้าทิศหรือไม่…แค่นั้นแหละครับ

แล้วทีนี้ ไอ้การมองซ้ายแลขวาเนี่ย มันเกี่ยวอะไรกับการก้าวย่างทั้งห้าล่ะ?
อันนี้ผมต้องขอเรียนก่อนว่า เป็นการเขียนเชิงส่วนตัวล้วนๆ ดังนั้นหลักวิชาที่เขียน มาจากหลักวิชาในสายวิชาของผม ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับสายวิชาใดๆที่มีก็ได้
และผมไม่ได้หมายความว่าแบบนี้ถูก แบบอื่นผิด ซึ่งเป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างมีวิธีในการเข้าถึงและอธิบายที่ต่างกันออกไป

ดังนั้น อ่านด้วยใจร่มๆครับ…

มองซ้ายแลขวานั้น อาจจะพูดได้ว่าในสายที่ผมฝึกนั้น จะเน้นเป็นพิเศษ หมายความว่าในกระบวนการเคลื่อนไหวใดๆนั้นจะใช้การมองของสายตาเป็นตัวกำหนดทิศทางขึ้นมา
การใช้สายตากำหนดทิศทาง หมายความว่าเมื่อเราหลับตาทั้งหมด แม้เราจะยังรู้ว่าด้านไหนคือหน้า ด้านไหนคือหลังจากความรู้ตัวและใช้ร่างกายอ้างอิงของเรา แต่หากเราตัดจุดอ้างอิงนั้นออกไปและวางจิตไว้เพียงศูนย์กลาง เราจะพบว่าเมื่อเราทำเช่นนั้นมันจะไม่มีความต่างระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง หรือซ้ายและขวาออกต่อไป
จนเมื่อเราลืมตาขึ้น เรามองเห็นโลก นั่นคือทิศทางด้านหน้า ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกของโลกในด้านหลัง และมันทำให้เรากำหนดสิ่งที่เรียกว่า ซ้าย, ขวา, หน้า, หลัง ขึ้นมา

การใช้สายตานั้น เรียกว่าเหยี่ยนเสิน 眼神 คือสัมปชัญญะที่สัมพันธ์ไปกับสายตา เฉกเช่นเมื่อเราจะเก็บสิ่งของขึ้นมาเราย่อมต้องมองไปก่อน การมองคือเรารู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ตรงนั้น ส่วนการพิจารณาถึงขั้นตอนการจะหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาค่อยเป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อไป

ดังนั้นในการรำไท่จี๋ การจะรู้ว่าเราจะทำท่าอะไรต่อไป สายตาต้องกำหนดทิศหัน หรือทิศทางที่จะไปเสียก่อน เมื่อเรามองตรงออกไปและก้าวเท้าในทิศทางนั้น นั่นคือการก้าวไปข้างหน้า และเมื่อเราก้าวเท้ากลับตรงข้ามกับทิศทางของสายตา นั่นคือก้าวไปข้างหลัง โดยไม่เกี่ยวว่าร่างกายจะหันไปอย่างไร ขอเพียงเป็นการก้าวในทิศตรงหรือตรงข้ามกับสายตา ก็จะเป็นก้าวไปข้างหน้ากับก้าวถอยหลังทันที
หมายความว่า เมื่อเราจะก้าวเท้าไปทางขวา ถ้าเรามองสายตาไปทางขวา แม้เมื่อเทียบกับร่างกายเป็นจุดอ้างอิงแล้วนั่นคือการก้าวไปทางขวา แต่ในแง่ของสัมปชัญญะ และการพิจารณาของจิตแล้ว นั่นคือการก้าวเท้าไปข้างหน้า….

ดังนั้นในแง่ของการก้าวเท้า จึงมีเพียงก้าวข้างหน้าตามทิศของการกำหนดจิตและสายตา และก้าวไปข้างหลังคือตรงข้ามกับทิศทางของจิตที่เรากำหนดและสายตาของเรา…

พูดให้ชัดคือ หลักที่ว่ามองซ้ายแลขวาก็คือมองซ้ายแลขวานั่นแหละ ไม่ใช่ก้าวซ้ายหรือก้าวขวา ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมในหลักห้าก้าว จึงมีการก้าวแค่ ก้าวหน้า กับถอยหลัง…

ดังนั้นการรำไท่จี๋ที่ถูก จึงควรมีการเคลื่อนไหวของสายตาไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้แต่ชักนำทิศทางของการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การหลับตารำ หรือการมองตรงไปข้างหน้าอย่างทื่อๆตลอดเวลา

ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวในท่าคว้าจับหางนก(หลานเชี่ยเหว่ย) การเคลื่อนไหวจากท่าเผิงซ้ายไปเผิงขวา
“จากเผิงซ้าย ร่างกายยืนบนขาซ้าย แผนซ้ายตีวงท่าเผิง ค่อยๆปล่อยคว่า แล้วใช้สายตามองแลกลับมาด้านขวา น้ำหนักร่างกายจะรวมศูนย์บนส้นเท้าซ้ายจึงใช้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน เมื่อมองมาทางขวา(โย่วพ่าน)ร่างกายก็ย่อมหันหมุนตามมาทางขวา(ไม่สามารถไปทางซ้ายแน่ๆ) เมื่อปลายเท้าซ้ายบิดตามมาก็วางปลายเท้า ใช้สายตามองกลับไปทางซ้าย(จั่วกู้) น้ำหนักก็จะวางกลับเต็มบนขาซ้าย บิดเอวไปทางซ้ายตามสายตาเล็กน้อย ยามนี้แขนขวาย่อมเคลื่อนตามสายตาและการเคลื่อนไหวไปทางซ้าย จึงนั่งย่อบนขาซ้ายแบ่งแยกเต็มว่าง(จงติ้ง)พร้อมใช้สายตาและสัมปะชัญญะกำหนดทิศทางไปทางทิศที่จะเผิงออกไป ขาขวาที่ว่างจะก้าวออกไปเองยังทิศทางที่กำหนด นี่คือก้าวไปข้างหน้า(จิ้นปู้) ยามนี้แขนขวาจากล่างซ้ายจะตีวงขยายขึ้นมาตามสายตาและการเคลื่อนไหว จึงวางปลายเท้าขวา ถีบขึ้นมาด้วยขาซ้ายให้น้ำหนักไหลผ่านตีวงโค้งขึ้นมา จึงวางน้ำหนักบนขาขวา ชี่จมตันเถียน ยอดกระหม่อมว่างเบา วงแขนขวาที่ขึ้นมานั้นย่อมเผิงออกไปเอง”

จากตัวอย่างคือการใช้สายตากับการเคลื่อนไหวซ้าย-ขวา กับการก้าวเท้าไปข้างหน้า จะเห็นว่าต่างมีการกำกับทิศทางด้วย สัมปชัญญะ จิต สายตา ร่างกาย มือเท้าค่อยเคลื่อนไหวไปตามไม่ใช่ว่าสายตาจ้องนิ่งไปจุดใดจุดหนึ่งตลอดเวลาไม่เคลื่อนไหว หรือไม่มีการกำหนดแบ่งแยกทิศทางให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกแต่อย่างใด

หลักการห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้นั้น มักมีไม่น้อยที่แบ่งแยกเป็นการก้าวไปเลยแบบผิวเผิน โดยทั่วไปคือแบ่งตามการเคลื่อนไหวไปเลย เช่นท่าปัดเข่ายั้งก้าวคือก้าวหน้า ท่าถอยหลังผลักลิงคือถอยหลัง ท่ามือเมฆคือก้าวไปด้านข้างหรือซ้าย-ขวา ซึ่งออกจะผิวเผินและขาดรายละเอียดเกี่ยวกับ “จั่วกู้โย่วพ่าน” ไป ซึ่งแท้จริงแล้วห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้มีความสำคัญพอๆกับแปดประตูหรือปาเหมิน ไม่มีอู่ปู้ก็ไม่มีการก้าวหน้า-หลัง วางตรงกลาง มองซ้ายแลขวา ก็ย่อมไม่มีการแบ่งแยกทิศทาง และไม่อาจะมีการเคลื่อนไหวใดๆเกิดขึ้น อีกทั้งโดยหลักวิชาแล้วได้แสดงอย่างเด่นชัดว่าห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้ ไม่ใช่แค่ท่าไหนก้าวยังไง แต่เป็นหลักที่มีอยู่และเป็นตัวกำหนดกฏเกณฑ์ในการเคลื่อนไหวยังทิศทางต่างๆของกระบวนท่าทั้งหมดไม่ว่าเราจะก้าวเท้าออกไปหรือไม่ก็ตาม…

มวยก็เป็นสิ่งที่เกิดจากวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม การเรียนวิชามวยบางครั้งก็ต้องเข้าใจพื้นฐานที่มาของหลักการต่างๆที่มาจากพื้นฐานทางสังคมง่ายๆอย่างเช่นภาษาที่ใช้กันทั่วไป ดังนั้นวลีที่ว่า มองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) จึงไม่ควรถูกมองข้าม หรือไปตีความเอาเองว่ามันจะต้องเป็นเคล็ดสุดยอดจนบางครั้งมันกลับหลุดไปจากพื้นฐานที่ใช้กันอยู่จริงในสังคมนั้นๆเพียงเพราะตัวเองไม่เข้าใจหรือคิดเองเห็นเองว่ามันเหมือนจะเรียบง่ายเกินไป

ดังนั้นหลัก มองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) ในห้าก้าวย่างจึงควรได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละการเคลื่อนไหว ไม่ควรถูกละเลยหรือตีความเป็นอย่างอื่นไป ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะก็เคยเห็นมีคนพยายามไปตีความให้เข้ากับหลักที่แปลชื่อเป็นไทยอย่างสวยหรูว่า “ปราณเบจธาตุ” เสียให้ได้ ซึ่งออกจะหลุดจากหลักที่ควรเป็นไปหน่อยเพราะไม่ได้เข้าใจพื้นฐานที่มาของวลีนี้ในสังคมที่มีอยู่จริงๆนั่นเอง

ก็หวังว่า บทความนี้จะเป็นแนวทางในการพิจารณา การมองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) สำหรับชาวไท่จี๋กันได้ระดับนึงนะครับ…