มวยไท่จี๋และวิทยายุทธ์จีน


ต่อจาก ตอนที่ 1 (ใครที่ยังไม่เคยติดตามมา แนะนำอ่านตอนที่ 1 ก่อนนะครับ)

จงกว๋ออู่ซู่ หรือศิลปะการต่อสู้ของจีนคือวัฒนธรรมจีน คือหนึ่งในจิตวิญญาณของจีน
ศิลปะการต่อสู้ ก็คือผลึกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ของจีนจึงเป็นผลึกทางวัฒนธรรมของชาวจีนที่สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานการใช้ชีวิต, หลักปรัชญา, ความเชื่อ, และยังได้ผสานและหลอมรวมกับศาสตร์ที่เกิดจากวัฒนธรรมเดียวกันอย่างใกลล้ชิด มวยจีนบางชนิดอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตทั่วไป ทำให้สามารถแสดงมวยได้อย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา มวยบางอย่างกลับเกิดจากปรัชญาหรือความเชื่อเช่นมวยไท่จี๋ ทำให้การอธิบายบางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยหลักการเพ้อฝันไกลตัว แต่พึงเข้าใจว่าเมื่อมองจากวัฒนธรรมจีนแล้วปรัชญาเหล่านี้หาใช่สิ่งไกลตัวเลย หากแต่มันเป็นปรัชญาที่อยู่แนบแน่นกับความเชื่อและชีวิตของชาวจีนมาช้านานจนเป็นหลักการและความเชื่อเบื้องหลังวัฒนธรรมจีนอันหลากหลายและยาวนานไปแล้ว
ศิลปะการต่อสู้ของจีน คือจิตวิญญาณหนึ่งของชาวจีน มันได้แสดงถึงจิตวิญญาณด้านความแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันมันได้เน้นถึงหลักการแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนตามวิถีของเต๋าและจริยธรรมจรรยาตามหลักแห่งขงจื้อด้วย สิ่งต่างๆทางวัฒนธรรมนี้หลอมรวมเข้ากันจึงเป็นวิชามวยจีนขึ้นมา ดังนั้นการเรียนมวยจีนสำคัญคือต้องเรียน “อู่เต๋อ” 武德หรือคุณธรรมวิชามวยควบคู่ไปด้วย และน่าเสียดายที่ด้วยการพัฒนาการต่อสู้ในปัจจุบันทำให้มีคนไม่น้อยเอาเทคนิคต่างๆมาสร้างวิชามวยใหม่ๆ และเรียกมวยนั้นๆว่า “มวยจีน” พร้อมกับอ้างว่ามันร้ายกาจกว่ามวยจีนดั้งเดิม บางครั้งเอาวิชาตัวเองเป็นเครื่องมือไปดูถูกวิชาเดิม โดยที่พวกเขาลืมไปว่ามวยจีนที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของความเก่งมากน้อยหรือวิชานั้นร้ายกาจเพียงใด แต่สำคัญคือการเรียนรู้หลักคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามพร้อมๆกับการพัฒนาความเข้มแข็งของตัวเองและชนในชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ออกไปด้วยจิตสำนึกที่ดี เพื่อให้ศิลปะนี้เป็นสิ่งที่คนทุกผู้ในโลกสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความดีงามทางวัฒนธรรมนี้ร่วมกัน จริงอยู่ว่าแม้บางครั้งในวัฒนธรรมของชาวจีนเองก็มีสิ่งที่ไม่ดีแฝงอยู่ แต่นั่นไม่พึงถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการเผยแพร่มวยจีนอย่างวัตถุประสงค์ แต่พึงนำตัวอย่างที่ไม่ดีนั้นมาเป็นแนวทางแก้ไขและมุ่งพัฒนาสิ่งที่ดีๆขึ้นมา เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ขึ้นมาในสังคมมวยจีนและโลกใบนี้

ซือฝู่หรืออาจารย์ หนึ่งในความหมายด้านความอ่อนน้อมถ่อมตน และกตัญญูกตเวที
เมื่อเรียนมวยจีนย่อมต้องมีผู้ถ่ายทอดวิชาให้ แม้ว่าสมัยนี้ผู้สอนมวยจีนได้ผันสภาพไปเป็นโค้ชหรือครูฝึกที่เรียกกันว่า “เหล่าซือ” กันหมดแล้ว แต่ภายสำหรับวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมรวมทั้งวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลแล้ว คำว่า “ซือฝู่” หรือ “ซี๊ฝู” ในภาษากวางตุ้งยังเป็นหัวใจทางวัฒนธรรมอันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและรู้จักกตัญญูตามหลักขงจื้ออยู่
คำว่าซือฝู่หมายถึงอาจารย์ ไม่เพียงแค่อาจารย์มวยแต่ซือฝู่ยังใช้เรียกผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญและเป็นต้นแบบในศาสตร์วิชาใดวิชาหนึ่งด้วย แม้ดูผิวเผินก็แค่แปลว่าอาจารย์แต่แท้จริงแล้วมันมีความละเอียดอ่อนอยู่ภายใน คำว่าซือฝู่นั้นต่อผู้อื่นมันคือความเคารพให้เกียรติและแสดงถึงความอ่อนน้อมของตัวเอง ดังนั้นต่อผู้อื่นคำว่า “ฝู่” จะเขียนด้วย傅 เป็น 師傅 ทุกครั้งที่เราเรียกผู้อื่นว่าซือฝู่ มันได้แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน(ไม่ใช่เรียกกันว่า “ไอ้ห่านั้น” หรือ “ไอ้หมอนี่”) ต่อผู้ที่เป็นอาจารย์ของตน คำว่าฝู่จะเขียนด้วย 父 ซึ่งแปลว่า “พ่อ” เป็น 師父 ดังนั้นคำว่า 師父จึงแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้เป็นอาจารย์ดังพ่อของตัวเอง และผู้เป็นอาจารย์ก็ต้องรักและถ่ายทอดวิชาและจริยธรรมจรรยาด้วยความอยากให้ลูกศิษย์เป็นคนดีดังเช่นที่หวังให้ลูกตัวเองเป็น สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แม้ผิวเผินแต่กลับแสดงถึงความละเอียดอ่อนและความดีงามทางวัฒนธรรม รวมถึงหลักของขงจื้อที่ควรยึดถือแฝงอยู่ในศาสตร์วิชามวยที่เราต้องศึกษาด้วย

มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมจีน
มวยไท่จี๋ หรือไท่จี๋เฉวียน หรือ ไท่เก๊ก ตามสำเนียงกวางตุ้งและแต้จิ๋ว คือศิลปะการต่อสู้อันตกผลึกจากวัฒนธรรมเชิงปรัชญาอย่างหนึ่ง เป็นศาสตร์วิชาที่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน, โอนอ่อนผ่อนตาม และความสงบไม่ก้าวร้าว ตามหลักปรัชญาเต๋า ถือเป็นหัวใจหลักและภาพลักษณ์ที่ดีงามของชาวจีน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มวยไท่จี๋ได้รับการยอมรับในวงกว้างจนเป็นหนึ่งในตัวแทนวิชาอู่ซู่ของจีน หากพูดถึงว่ามวยที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมากที่สุดของจีนก็คงไม่พ้นมวยไท่จี๋นี่เอง
มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้ที่ได้นำเอาหลักวิชาปรัชญาของอี้จิงและเต๋ามาสู่การใช้งานในการต่อสู้ ทั้งหลอมรวมแนวคิดเรื่องการพัฒนาร่างกายและใจจิตใจมีความแข็งแรงและเข้มแข็ง เพื่อพัฒนากำลังของคนในชาติตามอย่างแนวคิดของวิชาการต่อสู้ของจีนหรือจงกว๋ออู่ซู่ มวยไท่จี๋จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสตร์วิชาที่เป็นตัวแทนหนึ่งอันเป็นจิตวิญญาณทางด้านวัฒนธรรมจีนและศิลปะการต่อสู้ของจีนได้อย่างน่าภูมิใจ และแม้ว่ามันจะเป็นศาสตร์วิชาของจีนแต่วิชาที่ดีต้องมีความเป็นสากลและเข้าถึงคนทุกผู้ทุกชนชั้นโดยไม่แบ่งชาย หญิง เด็ก แก่ ซึ่งมวยไท่จี๋นั้นไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจากชาวจีนเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในระดับโลกโดยไม่แบ่งผู้คนหรือชนชาติ ทุกคนต่างสามารถซึมซับและรับเอาผลในการใช้งาน, สุขภาพที่แข็งแรงจากการฝึก รวมถึงสามารถซึมซับรับเอาความดีงาม, ความเข้มแข็ง, หลักแห่งการครองตน, และจิตวิญญาณของวิชาจากการฝึกมวยไท่จี๋ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นมวยไท่จี๋จึงสมควรต่อการศึกษาไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังสมควรต่อการศึกษาของทุกผู้คนในโลกด้วย

ในหลายปีที่ผ่านมานั้น ผมอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่เข้าออกประเทศจีนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่แท้จริงแล้วประเทศจีนคือประเทศที่ผมไม่ชอบ แม้ว่าผมจะมีเชื้อสายจีนและเกิดในเกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างฮ่องกงก็ตาม แต่ด้วยความที่ผมเติบโตภายใต้วัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบจีนรวมทั้งศึกษาวิชาและศาสตร์ต่างๆกับครูบาอาจารย์ที่ต่างก็ล้วนมอบความรู้ต่างๆให้ผมด้วยพื้นฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้ผมมักไม่ชอบและมองประเทศจีนอันขาดจิตวิญญาณตั้งแต่หลังปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยท่าทีที่ไม่ดีนัก  แต่อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมาการได้เรียนรู้ศาสตร์และความรู้ต่างๆจากการได้อยู่และพักอาศัยในประเทศจีน ก็ทำให้ผมเองอดที่จะพยายามเผยแพร่และแนะนำศาสตร์วิชาต่างๆด้วยจิตสำนึกของชาวจีนไม่ได้ ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นบทความที่ผมเขียนด้วยจิตสำนึกและแนวทางมีสองประการ

ข้อแรก ด้วยจิตสำนึกของชาวจีนผู้หนึ่งที่มีต่อวิชาศิลปะการต่อสู้ของจีน(จงกว๋ออู่ซู่) เพื่อเผยแพร่และทำให้ผู้ที่สนใจได้มีทัศนะที่ถูกต้องต่อศิลปะการต่อสู้ของจีน
ข้อสอง ด้วยจิตสำนึกของผู้ที่รักและยกย่องมวยไท่จี๋ หรือไท่จี๋เฉวียน หรือที่รู้จักกันในชื่อมวยไทเก๊ก

ด้วยแนวทางของข้อแรกนั้นเชื่อว่าไม่มีปัญหาใด แต่ด้วยแนวทางข้อที่สองนั้นพึงเข้าใจว่าในวงการนั้นมีคำว่า ”ต่างสำนักต่างสายวิชา” การเขียนหรือกล่าวอะไรไปจึงมักก่อปัญหาได้ง่ายยิ่งหากนับไปแล้วมวยไท่จี๋นั้นมีการแตกแขนงไปมากมายและมีการเปลี่ยนแปลงทั้งที่ดีและไม่ดี
ซึ่งจริงๆแล้วการเขียนโดยอ้างแต่ข้อความตามตำราย่อมสามารถลอยตัวเหนือความขัดแย้งได้โดยไม่ยาก แต่หากจะเขียนในรายละเอียดของการฝึก ผล หลักวิธีของสายวิชา เช่นนั้นก็มักจะขัดแย้งได้ง่ายแล้ว ดังนั้นในการเขียนจึงต้องถือหลักไม่แบ่งสำนักและสายวิชา ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ดังนั้นข้อความใดที่ผิดพลาดไปก็ถือเสียว่านี่คือความบกพร่องของผมเอง

บทความนี้จะเขียนเป็นบทๆไปอย่างต่อเนื่องเท่าที่เวลาและความคิดจะอำนวย เน้นที่วิชามวยไท่จี๋หรือไท่เก๊กเป็นหลัก โดยจะทะยอยเขียนทั้งหลักวิชาและแนวทางการฝึกตามที่ได้เรียนรู้มาอย่างเปิดเผย ซึ่งขอผู้อ่านได้ค่อยๆติดตามอ่านไปอย่างใจเย็นครับ

จงกว๋ออู่ซู่ คือศิลปะการต่อสู้ของจีน
จงกว๋ออู่ซู่หรือศิลปะการต่อสู้ของจีนนั้นคือศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่ง ซึ่งได้กำเนิด เติบโต และพัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิต และวัฒนธรรมเชิงปรัชญา, ศาสนา และความเชื่อ ซึ่งภายใต้แผ่นดินที่กว้างใหญ่ของจีนเองบางครั้งก็มีความขัดแย้งแตกต่างระหว่างวิชามวยกันเองจนแบ่งเป็นฝักฝ่ายกันอยู่มาก เช่นฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้(หนานพ่าย-เป่ยพ่าย), ฝ่ายภายนอก-ภายใน(เน่ยเจีย-ไว่เจีย) ทำให้บ่อยครั้งการคุยกันในวิชามวยก็เหมือนแตกต่างกันคนละภาษา แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดอาจจะกล่าวได้ว่ามวยจีนก็เหมือนภาษาจีนเอง ที่แม้ต่างสำเนียงต่างท้องถิ่นต่างมลฑล แต่ก็ยังเป็นภาษาเดียวกัน และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นชาวจีนในภาษาเดียวกันนี้เอง แม้ต่างมาจากคนละที่แต่หากมีความรักไคร่ชอบพอ มีมิตรภาพไมตรีต่อกัน ย่อมส่งสำเนียงพูดคุยกันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

จงกว๋ออู่ซู่ ไม่ใช่นิยายจีน
บ่อยครั้งที่ผมอยู่ในประเทศจีนและได้พบพูดคุยกับผู้ฝึกวิชามวยจีนในประเทศจีนเอง นี่ถือว่าไม่นับผู้ฝึกในเชิงกีฬาหรือการแสดง ผมได้พบว่านักมวยจีนรุ่นเก่าหรืแม้แต่รุ่นใหม่ๆเอง ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของนิยายจีนกำลังภายจากฝั่งฮ่องกง-ไต้หวันเหมือนผู้ฝึกในไทย ผู้ฝึกในจีน(รวมไต้หวัน-ฮ่องกง) มองศิลปะการต่อสู้ค่อนข้างเรียบง่ายว่ามันก็คือศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพด้วย แม้บ่อยครั้งด้วยวัฒนธรรมของชาวจีนที่นิยมใช้การเปรียบเปรย หรืออ้างความเชื่อที่อาจจะดูเหมือนอวดอ้างเกินจริงในสายตาของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศต่างวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงส่วนที่เกิดจากวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ แต่ตัวผู้ฝึกและผู้เรียนรู้ศึกษาแล้วโดยส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมาต่อวิชาที่ตัวเองได้ศึกษามาเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องนี้หลายครั้งที่ผมได้พบและพูดคุยกับอาจารย์มวยรุ่นใหญ่หรือที่เรียกว่า ”ต้าซือ” หรืออาจารย์ใหญ่ทั้งหลาย ผมก็พบว่าครูมวยเหล่านี้ต่างพูดคุยถึงวิชาอยู่ในขอบเขตแห่งความจริงเป็นส่วนมาก ท่านเหล่านั้นมักจะไม่ได้อวดอ้างพลังชี่หรือปราณ กำลังภายใน หรือพลังพิเศษอะไร หากเทียบกับหนังสือหรือตำรามวยจีนที่เขียนกันในโลกตะวันตกหรือพูดง่ายๆว่าที่เขียนกันเป็นภาษาฝรั่งออกมานั้น พบว่าตำราเหล่านั้นมักจะอวดอ้างเกินจริงเสียมากกว่าที่ครูมวยท่านสอนกันไว้จริงๆเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นสำหรับผู้ฝึกมวยจีน จึงพึงตระหนักถึงเรื่องของ “ทัศนะคติและความเข้าใจที่ถูกต้อง” ต่อวิชามวยให้มาก บ่อยครั้งที่ผมเห็นคนที่เพียงแค่เคยอ่านหลักวิชาจากนิยายก็เอามาพูดคุยหรืออธิบายหลักวิชาให้ผู้อื่นฟัง ครั้นพอผมบอกกล่าวในเรื่องของความถูกต้องและขอบเขตความจริงของวิชา กลับพบว่าส่วนใหญ่แล้วบรรดา “มือใหม่” เหล่านี้มักจะรับไม่ได้และหาว่าผมดูถูกวิชามวยไปเสียอีก เข้าใจผิดไปเองยังไม่ว่าแต่ส่วนใหญ่ยังเห็นเอาหลักผิดๆไปกล่าวอ้างต่อ นี่เท่ากับการสร้างทัศนะคติที่ผู้คนมีต่อมวยจีนให้ไปในทางที่ผิดโดยแท้

***ตอนนี้ผมได้ทำบอร์ดไว้ประกอบกับ Blog นี้นะครับ ถ้ามีหัวข้ออะไรอยากตั้งก็เชิญได้เลยนะครับ http://iching69taijiquan.forumth.com/index.htm

(*ช่วงนี้ขอพักบทความอี้จิงแป๊บนึง เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลา กับอีกทั้งช่วงนี้ผมต้องใช้วิชาอี้จิงค่อนข้างบ่อย พอถึงเวลาจะเขียนเลยเหนื่อยจะเขียนซะงั้น ขอหลุดไปเรื่องอื่นสลับชั่วคราวครับ)

จริงๆแล้วเป็นเวลานานเหมือนกันที่ผมไม่ได้เขียนบทความเรื่องมวยไท่จี๋ด้วยตัวเอง ด้วยหลายๆสาเหตุ ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะไม่ได้เจอหัวข้อที่น่าสนใจจะเขียน ดังนั้นที่ผ่านมาแม้แต่ในสมัยที่เว็บ xiaochenmen ยังอยู่ บทความทั้งหลายก็ยังเป็นการแปลมาลง นอกจากการเขียนสนุกๆในบางเรื่องที่นึกได้ลงตามบอร์ดเท่านั้นเอง และครั้งนี้ก็ยังเช่นกัน คือเป็นบทความที่เขียนสนุกๆจากหัวเรื่องที่มีการพูดกันขึ้นมากับลูกศิษย์ฝรั่งท่านนึงชื่อว่า Ed

บทความครั้งนี้เริ่มต้นด้วยหัวข้อแปลกๆ ซึ่งขออธิบายก่อนว่า หัวข้อคือ左顾右盼 เป็นวลีที่ใช้เป็นปกติทั่วไป อย่างน้อยก็ซักที่ หรือซักช่วงเวลาในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนละกันครับ หมายความง่ายๆว่า “มองซ้ายแลขวา”

ถ้าแยกคำออกมาดู มันประกอบด้วยคำย่อยลงไปอีก ดังนี้

左 อ่านว่า “จั่ว” หมายถึงซ้าย หรือข้างซ้าย ส่วน顧อ่านว่า “กู้” หมายถึงการหันหน้ามอง ดังนั้น左顧จึงหมายถึง มองไปทางซ้าย

右 อ่านว่า “โย่ว” หมายถึงขวา หรือข้างขวา ส่วน 盼 อ่านว่า “พ่าน” หมายถึงการมองอีกเช่นกัน ดังนั้น  右盼 จึงหมายถึงการแลหรือมองไปทางขวา

ดังนั้น左顧右盼 จึงเป็นวลีพื้นๆที่ใช้กันได้ทั่วไป แปลเป็นว่า “มองซ้ายแลขวา” นั่นเองครัฟ

พล่ามมาตั้งนาน มันเกี่ยวไรกะมวยไทจี๋???!!!

ก็เกี่ยวอยู่ครับ พอดีว่าคำนี้มันเป็นศัพท์เทคนิคในมวยไท่จี๋น่ะสิ….

หลายคนอาจจะโวยวายว่า ไม่เคยได้ยิน…….ว่ามีคำพวกนี้ในมวยไท่จี๋…

ใจเย็นครับ มีแน่ และผมเชื่อว่าคนที่ฝึกไท่จี๋เคยเจอคำนี้แน่ๆ แต่มองผ่านและไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ หรือไม่ก็เข้าใจเป็นคำอื่น

เพราะคำว่ามองซ้ายแลขวานี้ มันถูกจัดหรือวางอยู่ในหลักกลุ่มที่เรียกว่า “อู่ปู้” หรือ 5 ก้าวนั่นแหละครับ ดังนั้นหลายคนจึงเข้าใจผิดไปเลยง่ายๆว่า ไอ้คำว่ามองซ้ายแลขวานั่น มันคือการก้าวเท้าไปทางซ้าย และทางขวา เพราะเอาสองคำนี้ไปสับสนกับคำว่า ก้าวเท้าไปข้างหน้า และถอยเท้าไปข้างหลังนั่นเอง…

ผมคิดถึงเรื่องนี้ และคิดจะเขียนเพราะเช้านี้ Ed มันดันถามว่า “ช่วยอธิบายเรื่อง 5 ก้าวหน่อย?” ผมฮาก่อนเล็กน้อยค่อยอธิบายให้ฟัง
และก็เป็นที่มาของบทความนี่แหละ

เกริ่นไปเยอะแล้ว น่าจะได้เวลาเข้าเรื่องกันซะที….แต่นแต๊น…

อันว่าในมวยไท่จี๋นั้นมีทั้งสิ้น 13 ท่า แบ่งเป็นท่าทั้งแปด เรียกว่าแปดประตูหรือ “ปาเหมิน” มี เผิง, หลีว์, จี่, อ้าน, ไฉ่, เลี๊ยะ, โจ่ว, เค่า สัมพันธ์กับแผนภูมิแปดทิศหรือ “ปากว้า” และส่วนที่เหลือมี 5 ท่า เรียกว่า ห้าก้าวย่าง หรือ “อู่ปู้”

เข้าเรื่องอู่ปู้หรือห้าก้าวย่างแล้วก็ขอขยายความต่อไปว่า แม้จะเรียกว่า ห้าก้าวย่าง แต่ว่าคำว่า”ปู้” หรือก้าวย่างนั้น ปรากฏในเคล็ดความเพียงแค่สองเท่านั้น โดยมีลำดับดังนี้
進步 “จิ้นปู้” หรือก้าวไปข้างหน้า, 退步“ทุ่ยปู้” หรือก้าวไปข้างหลัง, 左顧 หรือมองซ้าย, 右盼 หรือแลขวา และ 中定 “จงติ้ง” หรือตั้งมั่นกลางศูนย์

ดังนั้นที่ว่าก้าวๆเนี่ย มันแค่สองก้าวเองนะเออ… ไม่ได้มีก้าวซ้ายก้าวขวาแต่อย่างใด อย่าได้สับสน….

ดังนั้นที่ถูกเรียกว่า ห้าก้าวย่างก็ควรมีเหตุผลให้เรียกเช่นนั้น  ดังนั้นมาลองดูว่า คำนี้เริ่มมาจากไหนกัน

ออกตัวก่อนนะครับ ผมไม่ขออ้างอิงอะไรจากมวยตระกูลเฉินทั้งสิ้น เพราะทุกวันนี้มวยไท่จี๋ตระกูลอยางเองก็อ้างอิงหลักจากที่อื่นเช่น “ตำรามวยหวังจงเย่” อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกัน

หากลองตรวจสอบจากตำรามวยของท่านหวังจงเย่ ก็พูดถึงหลักต่างๆ แต่ไม่ได้พูดถึง 13 ท่าแต่อย่างใด ดังนั้นไม่เจอที่พูดถึง ห้าก้าวย่าง รวมถึงฉบับที่ อ.อู่อวี๋เซี่ยงเรียบเรียง ก็ไม่ได้พบเห็น…

ทีนี้ที่พบคือ จากตำรามวยไท่จี๋โดย “จางซานฟง” บุคคลระดับเทพนิยายของเรานั่นเอง มีข้อความหนึ่งดังนี้
“ก้าวหน้า, ถอยหลัง, มองซ้าย, แลขวา, กลางตั้งมั่น, คืออู่สิงหรือห้าธาตุ”
…ไม่ได้เรียกว่า “อู่ปู้” หรือ ห้าก้าวย่างแต่อย่างใด…

ที่เขียนรายละเอียดให้ดูไม่ใช่จะมาจับผิดเรื่องคำหรือการตั้งชื่อกระบวนวิชาหรอกครับ มันไร้สาระ แค่จะชี้ให้เห็นเฉยๆ เพราะเมื่อค้นในหลักวิชาเช่นข้อความหลักวิชาของอาจารย์มวยตระกูลหยางเอง ต่างก็เรียกกันว่าห้าก้าวย่างกัน ดังนั้นมันก็ต้องเรียกว่าห้าก้าวย่างหรือ “อู่ปู้” นั่นแหละครับ ไม่ควรเป็นอื่น แต่เราจะมาดูว่า มันมีอะไรอยู่ในนั้น มากไปกว่าแค่ก้าวเท้าไปมาห้าทิศหรือไม่…แค่นั้นแหละครับ

แล้วทีนี้ ไอ้การมองซ้ายแลขวาเนี่ย มันเกี่ยวอะไรกับการก้าวย่างทั้งห้าล่ะ?
อันนี้ผมต้องขอเรียนก่อนว่า เป็นการเขียนเชิงส่วนตัวล้วนๆ ดังนั้นหลักวิชาที่เขียน มาจากหลักวิชาในสายวิชาของผม ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับสายวิชาใดๆที่มีก็ได้
และผมไม่ได้หมายความว่าแบบนี้ถูก แบบอื่นผิด ซึ่งเป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างมีวิธีในการเข้าถึงและอธิบายที่ต่างกันออกไป

ดังนั้น อ่านด้วยใจร่มๆครับ…

มองซ้ายแลขวานั้น อาจจะพูดได้ว่าในสายที่ผมฝึกนั้น จะเน้นเป็นพิเศษ หมายความว่าในกระบวนการเคลื่อนไหวใดๆนั้นจะใช้การมองของสายตาเป็นตัวกำหนดทิศทางขึ้นมา
การใช้สายตากำหนดทิศทาง หมายความว่าเมื่อเราหลับตาทั้งหมด แม้เราจะยังรู้ว่าด้านไหนคือหน้า ด้านไหนคือหลังจากความรู้ตัวและใช้ร่างกายอ้างอิงของเรา แต่หากเราตัดจุดอ้างอิงนั้นออกไปและวางจิตไว้เพียงศูนย์กลาง เราจะพบว่าเมื่อเราทำเช่นนั้นมันจะไม่มีความต่างระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง หรือซ้ายและขวาออกต่อไป
จนเมื่อเราลืมตาขึ้น เรามองเห็นโลก นั่นคือทิศทางด้านหน้า ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกของโลกในด้านหลัง และมันทำให้เรากำหนดสิ่งที่เรียกว่า ซ้าย, ขวา, หน้า, หลัง ขึ้นมา

การใช้สายตานั้น เรียกว่าเหยี่ยนเสิน 眼神 คือสัมปชัญญะที่สัมพันธ์ไปกับสายตา เฉกเช่นเมื่อเราจะเก็บสิ่งของขึ้นมาเราย่อมต้องมองไปก่อน การมองคือเรารู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ตรงนั้น ส่วนการพิจารณาถึงขั้นตอนการจะหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาค่อยเป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อไป

ดังนั้นในการรำไท่จี๋ การจะรู้ว่าเราจะทำท่าอะไรต่อไป สายตาต้องกำหนดทิศหัน หรือทิศทางที่จะไปเสียก่อน เมื่อเรามองตรงออกไปและก้าวเท้าในทิศทางนั้น นั่นคือการก้าวไปข้างหน้า และเมื่อเราก้าวเท้ากลับตรงข้ามกับทิศทางของสายตา นั่นคือก้าวไปข้างหลัง โดยไม่เกี่ยวว่าร่างกายจะหันไปอย่างไร ขอเพียงเป็นการก้าวในทิศตรงหรือตรงข้ามกับสายตา ก็จะเป็นก้าวไปข้างหน้ากับก้าวถอยหลังทันที
หมายความว่า เมื่อเราจะก้าวเท้าไปทางขวา ถ้าเรามองสายตาไปทางขวา แม้เมื่อเทียบกับร่างกายเป็นจุดอ้างอิงแล้วนั่นคือการก้าวไปทางขวา แต่ในแง่ของสัมปชัญญะ และการพิจารณาของจิตแล้ว นั่นคือการก้าวเท้าไปข้างหน้า….

ดังนั้นในแง่ของการก้าวเท้า จึงมีเพียงก้าวข้างหน้าตามทิศของการกำหนดจิตและสายตา และก้าวไปข้างหลังคือตรงข้ามกับทิศทางของจิตที่เรากำหนดและสายตาของเรา…

พูดให้ชัดคือ หลักที่ว่ามองซ้ายแลขวาก็คือมองซ้ายแลขวานั่นแหละ ไม่ใช่ก้าวซ้ายหรือก้าวขวา ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมในหลักห้าก้าว จึงมีการก้าวแค่ ก้าวหน้า กับถอยหลัง…

ดังนั้นการรำไท่จี๋ที่ถูก จึงควรมีการเคลื่อนไหวของสายตาไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้แต่ชักนำทิศทางของการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การหลับตารำ หรือการมองตรงไปข้างหน้าอย่างทื่อๆตลอดเวลา

ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวในท่าคว้าจับหางนก(หลานเชี่ยเหว่ย) การเคลื่อนไหวจากท่าเผิงซ้ายไปเผิงขวา
“จากเผิงซ้าย ร่างกายยืนบนขาซ้าย แผนซ้ายตีวงท่าเผิง ค่อยๆปล่อยคว่า แล้วใช้สายตามองแลกลับมาด้านขวา น้ำหนักร่างกายจะรวมศูนย์บนส้นเท้าซ้ายจึงใช้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน เมื่อมองมาทางขวา(โย่วพ่าน)ร่างกายก็ย่อมหันหมุนตามมาทางขวา(ไม่สามารถไปทางซ้ายแน่ๆ) เมื่อปลายเท้าซ้ายบิดตามมาก็วางปลายเท้า ใช้สายตามองกลับไปทางซ้าย(จั่วกู้) น้ำหนักก็จะวางกลับเต็มบนขาซ้าย บิดเอวไปทางซ้ายตามสายตาเล็กน้อย ยามนี้แขนขวาย่อมเคลื่อนตามสายตาและการเคลื่อนไหวไปทางซ้าย จึงนั่งย่อบนขาซ้ายแบ่งแยกเต็มว่าง(จงติ้ง)พร้อมใช้สายตาและสัมปะชัญญะกำหนดทิศทางไปทางทิศที่จะเผิงออกไป ขาขวาที่ว่างจะก้าวออกไปเองยังทิศทางที่กำหนด นี่คือก้าวไปข้างหน้า(จิ้นปู้) ยามนี้แขนขวาจากล่างซ้ายจะตีวงขยายขึ้นมาตามสายตาและการเคลื่อนไหว จึงวางปลายเท้าขวา ถีบขึ้นมาด้วยขาซ้ายให้น้ำหนักไหลผ่านตีวงโค้งขึ้นมา จึงวางน้ำหนักบนขาขวา ชี่จมตันเถียน ยอดกระหม่อมว่างเบา วงแขนขวาที่ขึ้นมานั้นย่อมเผิงออกไปเอง”

จากตัวอย่างคือการใช้สายตากับการเคลื่อนไหวซ้าย-ขวา กับการก้าวเท้าไปข้างหน้า จะเห็นว่าต่างมีการกำกับทิศทางด้วย สัมปชัญญะ จิต สายตา ร่างกาย มือเท้าค่อยเคลื่อนไหวไปตามไม่ใช่ว่าสายตาจ้องนิ่งไปจุดใดจุดหนึ่งตลอดเวลาไม่เคลื่อนไหว หรือไม่มีการกำหนดแบ่งแยกทิศทางให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกแต่อย่างใด

หลักการห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้นั้น มักมีไม่น้อยที่แบ่งแยกเป็นการก้าวไปเลยแบบผิวเผิน โดยทั่วไปคือแบ่งตามการเคลื่อนไหวไปเลย เช่นท่าปัดเข่ายั้งก้าวคือก้าวหน้า ท่าถอยหลังผลักลิงคือถอยหลัง ท่ามือเมฆคือก้าวไปด้านข้างหรือซ้าย-ขวา ซึ่งออกจะผิวเผินและขาดรายละเอียดเกี่ยวกับ “จั่วกู้โย่วพ่าน” ไป ซึ่งแท้จริงแล้วห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้มีความสำคัญพอๆกับแปดประตูหรือปาเหมิน ไม่มีอู่ปู้ก็ไม่มีการก้าวหน้า-หลัง วางตรงกลาง มองซ้ายแลขวา ก็ย่อมไม่มีการแบ่งแยกทิศทาง และไม่อาจะมีการเคลื่อนไหวใดๆเกิดขึ้น อีกทั้งโดยหลักวิชาแล้วได้แสดงอย่างเด่นชัดว่าห้าก้าวย่างหรืออู่ปู้ ไม่ใช่แค่ท่าไหนก้าวยังไง แต่เป็นหลักที่มีอยู่และเป็นตัวกำหนดกฏเกณฑ์ในการเคลื่อนไหวยังทิศทางต่างๆของกระบวนท่าทั้งหมดไม่ว่าเราจะก้าวเท้าออกไปหรือไม่ก็ตาม…

มวยก็เป็นสิ่งที่เกิดจากวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม การเรียนวิชามวยบางครั้งก็ต้องเข้าใจพื้นฐานที่มาของหลักการต่างๆที่มาจากพื้นฐานทางสังคมง่ายๆอย่างเช่นภาษาที่ใช้กันทั่วไป ดังนั้นวลีที่ว่า มองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) จึงไม่ควรถูกมองข้าม หรือไปตีความเอาเองว่ามันจะต้องเป็นเคล็ดสุดยอดจนบางครั้งมันกลับหลุดไปจากพื้นฐานที่ใช้กันอยู่จริงในสังคมนั้นๆเพียงเพราะตัวเองไม่เข้าใจหรือคิดเองเห็นเองว่ามันเหมือนจะเรียบง่ายเกินไป

ดังนั้นหลัก มองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) ในห้าก้าวย่างจึงควรได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละการเคลื่อนไหว ไม่ควรถูกละเลยหรือตีความเป็นอย่างอื่นไป ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะก็เคยเห็นมีคนพยายามไปตีความให้เข้ากับหลักที่แปลชื่อเป็นไทยอย่างสวยหรูว่า “ปราณเบจธาตุ” เสียให้ได้ ซึ่งออกจะหลุดจากหลักที่ควรเป็นไปหน่อยเพราะไม่ได้เข้าใจพื้นฐานที่มาของวลีนี้ในสังคมที่มีอยู่จริงๆนั่นเอง

ก็หวังว่า บทความนี้จะเป็นแนวทางในการพิจารณา การมองซ้ายแลขวา左顧右盼(จั่วกู้โย่วพ่าน) สำหรับชาวไท่จี๋กันได้ระดับนึงนะครับ…

***ชี้แจง-บทความนี้เป็นบทความเดิมที่ผมแปล มาสมัยลงในเว็บเซี่ยวเฉิน ใครเคยเห็นหรือเคยอ่านก็อย่าแปลกใจครับ ผมแปลเอง แต่มาดูการแปลของตัวเองสมัยก่อนแล้ว มันช่าง…
แปลโดย Admin

(***เพื่อให้เขียนง่าน ผมเขียนไท่จี๋เฉวียนเป็นไท่จี๋ฉวนนะครับ)

ประโยค “ก้าวเท้าโดยไม่ทิ้งน้ำหนักไปยังเท้าหลังก่อนในท่าปัด เข่า ย่าง ก้าว” มาจาก ไท่ จี๋ ฉวน สู่ โดย กู่ หลิว ชิน ในหน้า 127 อธิบายถึงการเคลื่อนไหวของ ไท่ จี๋ ฉวน แบบตระกูลหยางว่า “ไม่ทิ้งน้ำหนักยังเท้าหลังก่อนเก้าเท้าออกไปในท่าปัดเข่าย่างก้าว (โลว ซี เอ้า ปู้) เพราะเมื่อนั่งกลับยังเท้าหลังจะสูญเสียโอกาสของการโจมตีต่อเนื่อง และเป็นการเคลื่อนไหวที่เปล่าประโยชน์” โดยประโยคนี้ สามารถเห็นถึงรูปแบบที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความแตกต่างที่สำคัญยิ่งระหว่าง ไท่ จี๋ ฉวน แบบตระกูลหยาง ของอาจารย์หยาง เฉิง ฝู่ และแบบมาตรฐานชุดใหม่ที่ดัดแปลงขึ้นตั้งแต่ปี 1950 ได้แก่ แบบ 24 ท่า แบบ 88 ท่า และแบบ 48 ท่า ซึ่งในการรำจะทิ้งน้ำหนักกลับยังเท้าหลังก่อนก้าวเท้าไปยังด้านหน้า ยกตัวอย่างเว้นการก้าวเท้าจากท่าปัด เข่า ซ้าย ย่าง ก้าว (จั่ว โลว ซี เอ้า ปู้) ไปยังท่า ปัดเข่าขวาย่างก้าว (โย่ว โลว ซี เอ้า ปู้) อธิบายได้ดังนี้ “ขาขวาค่อยๆ งอเข่า ขณะที่ร่างกายทิ้งนั่งลง น้ำหนักย้ายไปยังขาขวา ปลายเท้าซ้ายเปิดขึ้น แล้วปิดออก งอขวาซ้ายวางปลายเท้าลงบิดลำตัวไปทางซ้าย แล้วย้ายน้ำหนักไปยังขาซ้าย” ในชุดฝึกไท่ จี๋ ฉวน ที่กำหนดขึ้นในปี 1980 ได้แก่ ชุดรำ ไท่ จี๋ ฉวน แบบแข่งขัน (ไท่ จี๋ ฉวน จิง ไช่ เทา ลู่) ล้วนประกอบด้วย การย้ายน้ำหนักโดยนั่งกลับหลังก่อนก้าวเท้าไปข้างหน้า เช่น ในท่า ปัด เข่า ขวา (โย่ว โลว ซี) ซึ่งตามด้วยท่าปัดเข่าซ้าย (จั่ว โลว ซี) และท่ายกมือป้อง ซึ่งมาจากท่าแส้เดี่ยว (ตันเปียน) ในท่ารำแบบแข่งขันของหยาง ไท่ จี๋ ฉวน (หยาง ซื่อ ไท่ จี๋ ฉวน จิง ไช่ เทา ลู่) ประกอบด้วย 5 ท่า ซึ่งต้องทิ้งน้ำหนักกลับยังเท้าหลังก่อนจึงก้าวเท้าไปด้านหน้า ประกอบด้วย งู ขาว แลบลิ้น (ไป่ เสอ โท่ว ซิน) จากท่าพัดข้ามไหล่ ( ชาน ทง เป้ย) และคว้าจับหางนกกระจอก (หลาน เชี่ย เว่ย) จากท่า ชกหว่างขา (จื่อ ตาง ฉุย)

อาจารย์เหม่ย หยิง เชิง ได้ศึกษาหนังสือหลักและทฤษฎีไท่จี๋ฉวนของอาจารย์หยางเฉิ้งฝู่ หยาง ไท่ จี๋ ฉวน ของอาจารย์ ฝู่ จง เหวิน, หยาง ไท่ จี๋ ฉวน ที่แท้ของ เซ้า ปิน , อรรถาธิบาย หยาง ไท่ จี๋ ฉวน ของหวัง หย่ง ฉวน, ไท่ จี๋ ฉวน ที่แท้ของ อู๋ สี่ ชิง, ไท่ จี๋ ฉวน เบื้องต้น โดยหวง หาน จี, ศิลปะแห่ง ไท่ จี๋ ฉวน โดยกู่ หลิว ชิน และหนังสือโดย อาจารย์ ไท่ จี๋ ที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม จากหนังสือทั้งหมดข้างต้น ไม่มีสักเล่มที่อธิบายถึงการย้ายน้ำหนักกลับก่อนก้าวเท้าไปด้านหน้า อาจารย์เหม่ย หยิง เซิง ได้ศึกษามวยไท่ จี๋ กับศิษย์หลายคน ของอาจารย์ หยาง เฉิง ฝู่ ได้แก่ อาจารย์ ฝู่ จง เหวิน, เส้าปิน, กู่ หลิว ซิน และหยาง เส้า ชิน ซึ่งทั้งหมดล้วนกล่าวถึงหลักและวิธีของไท่ จี๋ ฉวน แบบหยาง ว่าการทิ้งน้ำหนักกลับก่อนก้าวเท้าไปข้างหน้า ว่าเป็นความ “น่าหัวเราะ” และโง่เขลา” อาจารย์เหม่ย ได้เปรียบเทียบวิธีการอันแตกต่างระหว่างวิธีการก้าวเท้าในไท่จี๋ฉวนแบบหยาง กับชุดมาตรฐาน ซึ่งนั่งกลับก่อนก้าวเท้าและอธิบาย ว่าวิธี “นั่งกลับก่อนย่างเท้า” ประกอบด้วยข้อเสียดังนี้

1. ไม่เป็นการสอดคล้องกับคัมภีร์โบราณที่ว่า “ก้าวเท้าเหมือนแมว เคลื่อนเหมือนสาวไหม” (ว่าน ปู้ รู เหมา สิง, ต่ง โจ่ว รู โซว ซือ) เก้าเท้าแบบแมวหรือเท้าเสือ คือ การอธิบายถึงความคล่อง, ราก, มั่นคง และต่อเนื่องในการก้าวเท้าของแมว เมื่อแมวติดตามอาหารแมวก้าวเท้าโดยไม่ได้ทิ้งน้ำหนักกลับ ในการฝึกผลักมือ (ทุย โส่ว) ไม่ว่าในการผลักมือ, เคลื่อนที่ (ฮว่า ปู้ ทุย โส่ว) การผลักมือแบบอยู่กับที่ (ติ้ง ปู้ ทุย โส่ว) หรือผลักมือแบบเคลื่อนที่อิสระ (หลาน ไฉ่ ฮวา) ล้วนไม่มีวิธีในการนั่งกลับก่อนก้าวเท้า เมื่อถอย คือ ก้าวเท้าไปด้านหลัง ไม่มีความจำเป็นที่ต้องย้ายน้ำหนักไปด้านหน้าก่อน แล้วค่อยถอยหลัง ในคัมภีร์โบราณ กล่าวไว้ว่า “การรุกหน้าโดยพลัง (การโจมตี) แข็งแกร่ง นำสู่ชัยชนะ การก้าวถอนหลบคมดาบคือ ทางสู่ความพ่าย“ ดังนั้นจึงไม่ควรย้ายน้ำหนักของร่างกายโดยการนั่งกลับหลังก่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ในท่า ก้าวเท้า กำหมัด ขวางฟาด (ปาน หลาน ชุ่ย) จากส่วนแรก (เก๊กแรก) ของท่ารำ 108 ท่า ของอาจารย์หยาง เฉิง ฝู่ ก่อนก้าวเท้าไม่มีการถอยน้ำหนักก่อนในท่าถอยหลังผลักลิง (เตา เหนียน โห่ว) ก่อนก้าวถอยหลังก็ไม่มีการเคลื่อนร่างกายไปข้างหน้าก่อน เมื่อทำท่ามือเมฆ (หวิ๋น โส่ว) ไม่เคลื่อนน้ำหนักทางขวาก่อนก้าวซ้ายไปทางซ้าย ในคัมภีร์โบราณกล่าวว่า “เมื่อต้องการเคลื่อนไปข้างหน้า ให้เคลื่อนไปข้างหลังก่อนเมื่อต้องการเคลื่อนไปด้านหลังให้เคลื่อนไปข้างหน้าก่อน เมื่อต้องการเคลื่อนไปยังทางซ้ายให้เคลื่อนไปทางขวาเมื่อต้องการเคลื่อนไปทางขวา ให้เคลื่อนไปทางซ้ายก่อน” สามารถอธิบายได้ท่าปัดเข่าซ้ายย่างก้าวไปยังปัดเข่าขวาย่างก้าว เมื่อก้าวเท้าไปยังท่าปัดเข่าขวาย่างก้าว ขณะที่ยังไม่ผลักมือซ้ายออกไป ฝ่ามือซ้ายคือ ฝ่ายมือหมุนตัว (ฟาน ถิ จ่าง) ไปยังด้านหลังแล้วจึงผลักไปด้านหน้า ในท่าถอยหลังผลักลิง ฝ่ามือจะผลักไปด้านหน้าก่อนใช้ฝ่ามือหมุนตัวไปด้านหลัง ก่อนฝ่ามือขวาเคลื่อนไปทางขวา ในท่ามือเมฆ คือ ขวาจะเคลื่อนไปทางซ้ายก่อนปัดออก (เผิง) ไปทางขวา ในคัมภีร์โบราณยังกล่าวไว้ว่า “เคลื่อนที่เหมือนสาวไหม” เป็นการกล่าวถึงการเคลื่อนที่ทั้งหมดของร่างกาย รำไท่ จี๋ ฉวน เหมือนดึงไหมออกจากรัง ควรมีความต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ดังนั้น จึงไม่มีการผลักหรือดึงเส้นไหมเข้าออก ดังเช่น อาจารย์กู่ หลิว ชิน กล่าวไว้ “การถอยหลังจึงก้าวไปข้างหน้าเป็นเพียงการเคลื่อนที่ที่ไร้ประโยชน์

2. เป็นการสูญเสียพลังรังไหม (ฉาน ชือ จิ้ง) ในร่างกายส่วนล่าง เมื่อส่วนล่างเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อทุกส่วนล้วนผ่อนคลายและเคลื่อนไหวตามกัน โดยเกิดการต้านทานในร่างกายน้อยที่สุด และมีการบิดหมุนเคลื่อนไหวตามกันเป็นวงจร ส่งต่อกันไปทั่วส่วนล่างของร่างกาย (ต่ำกว่าเอว) การเคลื่อนไหวแบบวงจรรังไหมจะช่วยนวดอวัยวะภายใน และระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายส่วนล่าง ไท่ จี๋ ฉวน เป็นการออกกำลังกายที่ดียิ่ง และช่วยในการเสริมสร้างสุขภาพ ลักษณะเช่นนี้พบอย่างเด่นชัดในการเคลื่อนจากท่ายื่นคันธนูไปยังยืนท่าคันธนูอีกท่าหนึ่ง แม้ว่าในการย้ายน้ำหนักกลับก่อนย่างก้าวจะช่วยให้ผ่อนคลายได้มาก แต่วงจรของพลังรังไหมซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อ, ข้อต่อ, และเส้นเอ็น ในส่วนล่างของร่างกายล้วนสูญเสียไป
การเคลื่อนไหวแบบวงจรรังไหม ก็เหมือนกับคนสองคนกำลังบิดผ้าที่เปียก ถ้าผ้าไม่ถูกดึงให้ตึง ผ้าก็ไม่สามารถรับแรงบิดได้มาก และไม่ สามารถบิดน้ำออกได้หมด เช่นเดียวกับ การเดินแมวและพลังรังไหม ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนของกล้ามเนื้อ, ข้อต่อและเส้นเอ็น จากใต้เอวลงไป (ท่อนล่าง) มีการบิดหมุนเหมือนการบิดผ้า ผ้าต้องถูกดึงให้ตึงจากปลายทั้งสองด้าน จึงจะรับแรงได้มากพอในการบิดน้ำออกให้หมด เพราะฉะนั้นผู้ฝึก ไท่ จี๋ ฉวน พึงรู้ว่าการนั่งกลับไม่สามารถทำให้เกิดการบิดของกลุ่มกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนล่าง เหมือนการพยายามบิดผ้าที่ไม่ตึงและไร้พลัง มันจึงเป็นการลดคุษณภาพของการเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กันของกลุ่มกล้ามเนื้อในร่างกายส่วนล่าง ซึ่งหลักไท่ จี๋ กล่าวว่า “ไท่จี๋ฉวนใช้เวลาอันน้อยนิดก็สามารถเคลื่อนร่างกายและออกกำลังกายทุกส่วนได้อย่างสูงสุด”

3. เป็นการขัดกับหลักของไท่ จี๋ ฉวน ที่ว่า “เคลื่อนไหวเหมือนเมฆ และต่อเนื่องราวสายน้ำไหล” การนั่งกลับจึงเป็นการเคลื่อนที่กลับไปกลับมาอันขัดกับหลักข้างต้น และจาก “ผู้ฝึกไท่ จี๋ เปรียบดังสายน้ำใหญ่ และมหาสมุทรที่ไหลไม่หยุดยั้ง” “ไม่มีการติดขัดชะงัก” การนั่งกลับก่อนก้าวเท้าเป็นการ “หยุดชะงักการไหลอันต่อเนื่องของแรง (ตวน จิ้ง) และขัดกับหลัก ไท่ จี๋ ฉวน ในทุกการเคลื่อนไหวของ ไท่ จี๋ ฉวน ล้วนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาของจีนและเป็นศิลปะหนึ่งแห่งตะวันออก ไท่ จี๋ ฉวน จึงเป็นราวกับเสียงดนตรี อันเสนาะหู การนั่งกลับก่อนก้าวจึงเป็นราวกับการเพิ่มตัวโน๊ตที่ไม่มีความสอดคล้องลงในเพลงคลาสสิค ความไพเราะและงดงามของทั้งหมดล้วนสูญเสียไป ความแตกต่าง (ของการก้าว) นี้ยังแตกต่างทั้งจากจีนและต่างประเทศ อาจารย์ ไท่ จี๋ ฉวน ในอเมริกา ชื่อ อู๋ ต้า ยี่ ได้จัดพิมพ์บทความในนิตยสารหลายฉบับ เช่น “ศิลปะการต่อสู้ของจีน (จง หัว อู่ ซู)” , “อู่หลิน”, และอื่นๆ ได้กล่าวไว้ว่าการนั่งกลับก่อนก้าวนั้นเกิดในจีนก่อนและเป็นผู้เขียนเองได้รอคอยมาเป็นเวลานานว่า บรรดาผู้ฝึกไท่ จี๋ ในจีน จะหันมาสนใจปัญหานี้ แต่ยังไม่มีใครสนใจและแก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม โดยประสบการณ์ของผู้ฝึกดังเช่นอาจารย์อู่ ยัง มีความหวังว่า จะได้รับการสนใจและแก้ไขการก้าวเท้านี้ในไท่ จี๋ ฉวน

***ชี้แจง-บทความนี้เป็นบทความเดิมที่ผมแปลมาสมัยลงในเว็บเซี่ยวเฉิน ใครเคยเห็นหรือเคยอ่านก็อย่าแปลกใจครับ ผมแปลเอง แต่มาดูการแปลของตัวเองสมัยก่อนแล้ว มันช่าง…
แปลโดย Admin

(***เพื่อให้เขียนง่าน ผมเขียนไท่จี๋เฉวียนเป็นไท่จี๋ฉวนนะครับ)

ไทจี๋ฉวนให้ความสำคัญกับ “ใช้จิตเคลื่อนเป็นอันดับแรก ก่อเกิดความเคลื่อนไหวของร่างกาย แสดงออกเป็นท่าร่าง” นี่เป็นการรวมเข้าด้วยกันของ จิตวิญญาณ(เสิน) เจตจำนง(อี้) พลังงานภายใน(ชี่) และร่างกาย เพื่อแสดงออกถึงศิลปะการต่อสู้ขั้นสูง

การผสานภายใน หมายถึงการโคจรพลังงานภายในด้วยเจตจำนง ซึ่งจะช่วงยกระดับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยกระดับทางความคิดทางจิตใจของสมอง ในทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเล็กแคบแค่ไหนก็ตามล้วนต้องควบคุมด้วยเจตจำนง ตลอดเวลาผู้ฝึกต้องบรรลุถึงสามประสานใน ซึ่งประกอบด้วย การผสานจิตกับเจตจำนง ผสานเจตจำนงกับพลังงานภายใน และผสานพลังภายในกับแรงกำลัง การผสานนอกหมายถึงการแยกความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงระหว่างว่างและเต็มในการเคลื่อนไหวของไทจี๋ฉวน ลักษณะภายนอกประกอบด้วยร่างกายภายนอกได้แก่ ขา ลำตัว และแขน โดยการทำให้ข้อต่อหลักทั้งเก้าส่วนผ่อนคลาย และเคลื่อนไหว จะช่วยยกระดับของการประสานท่อนบนและท่อนล่างของร่างกายร่วมทั้งร่างกายทุกส่วน ภายในและภายนอกต้องรวมกันด้วยการประสานของท่าร่างและจิตสำนึก ทั้งสองส่วนนี้ต้องไม่แยกจากกัน ทุกท่าการเคลื่อนไหวคล้องสัมพันธ์กับจิตสำนึกและเจตจำนง

กล่าวทางทางสรีระวิทยาของการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ การเคลื่อนไหวเกิดจากข้อต่อซึ่งเชื่อมกระดูกเข้าด้วยกัน และกล้ามเนื้อในส่วนนั้นๆ ในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย 206 จุดของการเชื่อมต่อระหว่างกระดูก จุดเชื่อมต่อที่เคลื่อนไหวได้คือส่วนของข้อต่อ การเคลื่อนไหวเกือบทั้งหมดของร่างกายเกิดขึ้นจาก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็น เชื่อมยังกระดูก การเคลื่อนไหวนี้ถูกควบคุมให้สัมพันธ์กันโดยการควบคุมของระบบประสาท

ไทจี๋ฉวนเป็นศิลปะการต่อสู้ขั้นสูงที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ใช่เทคนิคภายนอกเท่านั้น ตำราเล่มหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ภายในฝึกฝนหนึ่งปราณ ภายนอกพัฒนาเส้นเอ็น กระดูก และผิวหนัง” คำว่า “หนึ่งปราณ” ในที่นี้หมายถึง พลังงานศูนย์กลางภายในหรือ “หยวนชี่” ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า “พลังงานก่อนฟ้า หรือ เทียนหยวนชี่” พลังภายในหรือแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) ซึ่งแสดงออกภายใต้การควบคุมของจิต

ตำราไทจี๋กล่าวว่า “ใช้จิตขับเคลื่อนพลังภายใน”, “ภายนอกพัฒนากระดูกเส้นเอ็นและเนื้อหนัง” และระบุถึงการใช้ “เน่ยจิ้งขับเคลื่อนร่างกาย” ซึ่งเกิดจากการเคลี่อนไหวบิดหมุนอย่างต่อเนื่องของกระดูกสันหลัง เอว ข้อมือ เข่า ข้อเท่า ฯลฯ การผสานเข้าซึ่งกันและกันของทั้งภายนอกและภายในโดยการฝึกไทจี๋ฉวนนี้ เพียงแต่เพิ่มความคล่องแคล่ว และการตอบสนองของข้อต่อต่างๆในร่างกาย แต่ยังพัฒนาเน่ยจิ้งได้อย่างสูงยิ่งด้วย

ระหว่างการฝึกไทจี๋ฉวน ทุกการเคลื่อนไหวต้องให้ความสำคัญกับการผสานท่อนล่างและท่อนบนของร่างกายเข้าด้วยกัน ในตำราไทจี๋กล่าวไว้ว่า “เมื่อจุดหนึ่งเคลื่อน ทุกส่วนล้วนเคลื่อน” แต่ละการเคลื่อนไหวต้องเกิดจากการหมุนของเอวซึ่งทำให้ทุกส่วนของร่างกายล้วนเคลื่อนไหวเป็นหน่วยเดียวกัน ทุกส่วนของร่างกายต้องผสานกับการเคลื่อนไหวของเอว พลังกำเนิดจากเท้า พุ่งผ่านขา ควบคุมโดยเอว แสดงออกทางมือและนิ้ว ล้วนเกิดในหนึ่งปราณ (หยวนชี่) โดยการควบคุมตามแนวทางนี้จะสามารถปล่อยแรงภายใน (ฟาจิ้ง) ได้

เอวและกระดูกสันหลัง จิตเพ่งด้วยตาติดตาม มือเท้าตามการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวท่อนบนและล่างเชื่อมโยงกันอย่างเป็นธรรมชาติ หัวใจหลักของการผสานบนล่างเข้าด้วยกันคือความคล่อง แคล่วรวดเร็วของใจ (ซิน) หรือเจตจำนง (อี้) เท้าต้องทำให้ร่างกายมั่นคงและยึดแน่น การหยั่งรากนี้ต้องควบคุมโดยเอวและหว่างขา (คว่า) เอวคือส่วนควบคุมในการปล่อยแรงภายใน (ฟาจิ้ง) เพื่อการนี้ร่างกายส่วนบนและส่วนล่างต้องเป็นหนึ่งเดียว

ลักษณะอีกอย่างของการผสานการเคลื่อนไหวของร่างกายท่อนบนและท่อนล่าง คือการผสานสามผสานนอก นั้นคือการรวมหรือเชื่อมต่อของ “ มือและเท้า ศอกและเข่า ไหล่และสะโพก ” หมายความว่าในระหว่างการฝึก ส่วนที่กล่าวไว้ต้องผสานซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันลำตัวทุกส่วนต้องติดตามเป็นหน่วยเดียวกัน ทำให้ร่างกาย มือ การก้าว และสายตาเคลื่อนไหวอย่างสำพันธ์กัน ทำให้สามารถรวมเจตจำนง (อี้) และรวมรวมแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) แสดงออกเป็นหน่วยเดียวกัน

แรงภายในคืออะไร ? ในเบื้องต้นแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) จะหมายถึง แรงกำลัง (จิ้งลี่) ที่สร้างขึ้นภายในร่างกาย ลี่ และ จิ้ง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่มันยังคงมีความแตกต่างกัน ลี่เป็นเหลี่ยมแต่จิ้งโค้งกลม ลี่ฝืดแต่จิ้งคล่อง ลี่ช้าแต่จิ้งเร็ว ลี่กระจายแต่จิ้งรวมศูนย์ ไทจี๋ฉวนคือศิลปะการต่อสู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเน่ยจิ้ง ไม่ใช่กับแรงดิบอย่างสัตว์ป่า เน่ยจิ้งนี้นี้ต้องมีอยู่ตลอด ไม่ว่าในการฝึกร่ายรำ การฝึกผลักมือ หรือการฝึกอื่นๆ

เน่ยจิ้งคือแรงยืดหยุ่น (สภาพ elastic ) และแรงต้าน (เหมือนแรงต้านอากาศที่พยุงให้เครื่องบินลอยตัว) จากภายใน ซึ่งแข็งแรงภายนอกและอ่อนหยุ่นภายใน ดังที่หยางเฉิงฝู่กล่าวไว้ว่า

“ ไทจี๋ฉวน คือสำลีหุ้มเหล็ก ” หรือดังที่กล่าวว่า “ ไม่แสดงความแข็งแกร่งออกทางภายนอก แต่เก็บซ่อนไว้ภายใน” เน่ยจิ้งในไทจี๋ฉวนแบ่งออกเป็นแปดลักษณะประกอบด้วย เผิงจิ้ง ลู่จิ้ง จี่จิ้ง อั่นจิ้ง ไฉ่จิ้ง เลี๊ยะจิ้ง โจ่วจิ้ง เค่าจิ้ง แม้ชื่อของเน่ยจิ้งเหล่านี้จะแตกต่าง แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบิดหมุนของพลังรังไหม

ตำราไทจี๋กล่าวไว้ว่า “แรงของฝ่ามือ ข้อมือ ศอก ไหล่ หลัง เอว สะโพก เข่า เท้า ข้อต่อส่วนบนและส่วนล่าง ทั้งเก้าปล่อยออกโดยเอว”, “เมื่อพลังภายในอยู่ที่ฝ่ามือ แกนอยู่ที่เอว” และ “เมื่อฝึกฝนการต่อสู้โดยไม่ฝึกเอว ยากที่จะบรรลุได้ถึงขั้นสูง” ดังนั้นในการฝึกกุญแจในการบรรลุถึงเน่ยจิ้งอยู่ที่การฝึกฝนเอว

ตามหลักสรีระวิทยา เอวอยู่ในส่วนของร่างกาย เหนือเอวและล่างชายโครง ด้านหน้าของเอวต่ำจากสะดือลงไปสองนิ้ว (จุดชี่ห่าย) ส่วนหลังของเอวเป็นที่ตั้งของจุดหมิงเหมินซึ่งตั้งบนกระดูกสันหลังตรงข้ามสะดือ ส่วนนี้ได้ถูกยึดถือเป็นศูนย์กลางของร่างกายเมื่อพลังถูกปล่อยจากตันเถียน และเมื่อพลังถูกเก็บรวมสู่ตันเถียน

“พลังภายในจมสู่ตันเถียน บนว่างล่างเต็ม พลังภายในรวมที่จุดศูนย์กลาง ว่างและเต็มถูกเก็บไว้ภายใน” พลังรังไหมปล่อยออกจากไต ปรากฏที่ตันเถียน กระจายไปทั่วร่าง ภายในกระตุ้นระบบอวัยวะภายนอกและกระดูก ภายนอกเคลื่อนกล้ามเนื้อ กระดูก และผม(ขน) เน่ยจิ้งจะเคลื่อนทั่วร่างถึงจุดปลายทั้งสี่ เมื่อเน่ยจิ้งเต็มเปี่ยม จะเกิดความรู้สึกมากมายขึ้นในร่างกายเช่น ผิวหนังร้อนขึ้น การขยายตัวของนิ้ว การถ่วงของส้นเท้า การจมต่ำในตันเถียน และรวมทั้งปรากฏการณ์อื่นๆ

หลักของไทจี่ฉวนต้องการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างว่างและเต็มดังที่กล่าวไว้ว่า “ เมื่อแบ่งแยกเต็มและว่าง ทุกส่วนย่อมเคลื่อนตามกัน นำพลัง(ของคู่ต่อสู้)ให้พบกับความว่างและยืมแรง(ของคู่ต่อสู้)โจมตี ” ถ้าไม่สามารถแบ่งแยกเต็มและว่างได้จะไม่สามารถเคลื่อนทั้งร่างเป็นหน่วยเดียวกันได้ และย่อมไม่สามารถสลายแรงของคู่ต่อสู้ได้ผลคือไม่สามารถยืมแรงของคู่ต่อสู้โจมตีกลับได้ เต็มและว่าง คือการเปลี่ยนแปลงระหว่างไตและเอว ศูนย์การของการเปลี่ยนแปลงนี้ที่จุดหมิงเหมินระหว่างไตทั้งสอง รวมจิตที่หมิงเหมินต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายสมดุลและป้องกันการเอนเอียงของร่างกาย ในการเคลื่อนไหวใช้จุดหมิงเหมินเป็นจุดศูนย์กลางของการขับเคลื่อนแรงเพื่อเปลี่ยนระหว่างเต็มและว่าง เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย และเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่จม และเคลื่อนโค้งระหว่างกล้ามเนื้ออกและหลัง เมื่อทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจึงจะสามารถเติมร่างกายด้วยเน่ยจิ้ง สลายแรงด้วยการเคลื่อนไหวแบบวงกลม และสามารถยืมแรงของคู่ต่อสู้ได้ ดังที่กล่าวไว้เสมอว่า “ร่างกายทั้งหมดคือหมัด” หรือ “ร่างกายทั้งหมดคือไทจี๋”

ในแง่กลศาสตร์เอวคือแรงผลักดันของการเคลื่อนไหว ในตำรากล่าวไว้ว่า “หมิ่งเหมินซึ่งอยู่ระหว่างไตคือกุญแจแห่งแรงผลักดันสำหรับส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย” เอวต้องรักษาและควบคุมให้ศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวเบาคล่องและมั่นคง ถ้าการเคลื่อนไหวเพียงเกิดของแขนและมือร่างกายจะไม่เชื่อมต่อ ดังที่กล่าวไว้ว่า “กำลังของการเคลื่อนเกิดเพียงแขนไม่เคลื่อนเอวเทคนิคทั้งหมดย่อมสูญสลาย”

แล้วเราควรจะพัฒนาความว่องไว เพิ่มพลัง และสร้างความยืดหยุ่นของเอวเพื่อสร้างและยกระดับแรงภายในหรือเน่ยจิ้งได้อย่างไร ? หลักการของไทจี๋ฉวนกล่าวไว้ว่า ท่วงท่าและเทคนิคต่างๆในการฝึกควรกระทำอย่างถูกต้อง ต้องคลายช่วงคอดึงจิตวิญญาณขึ้น คลายไหล่จมศอก เก็บอกจมเอว เปิดและทำหว่างขาให้โค้ง งอเข่าคลายสะโพก จมพลังลงสู่ตันเถียน ฯลฯ ซึ่งหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือเก็บอกและจมเอว ต้องสามารถบิดหมุน ปลุกเร้า และจมเอว ต้องสามารถผ่อนคลาย ปิด และรัดหว่างขา เมื่อบิดเอวหว่างขาต้องรัดแน่นไม่เช่นนั้นแรงภายในย่อมสลาย เมื่อปลุกเร้าช่วงเอวหว่างขาต้องคลายไม่เช่นนั้นแรงภายในย่อมฝืดเคือง เมื่อจมช่วงเอวหว่างขาต้องปิดไม่เช่นนั้นแรงย่อมเกิดเพียงผิวเผิน ในใจความนี้คือจะต้อง คลาย จม ตั้งตรง และมีพลัง ตั้งตรงคือร่างกายตั้งขึ้นและตรงร่างกายต้องคงศูนย์ สงบนิ่ง ด้วยการรักษาการตั้งของก้นกบนั้น จิตวิญญาณถึงบรรลุจุดยอดบนศรีษะ โดยการรักษาท่าร่างที่ตั้งตรงจึงสามารถคงศูนย์ร่างกายเพื่อส่งแรงภายใน ออกสู่ภายนอกได้เต็มที่จากศูนย์กลางการหมุนของเอว ผ่อนคลายโดยให้เอวหดเข้าเล็กน้อยโดยการคลายความเกร็งในส่วนของชายโครงจะช่วยจมเอวลงล่าง เมื่อเอวคลายตัวสมบูรณ์ พลังงายภายในย่อมจมลงสู่ตันเถียนตามธรรมชาติทำให้ร่างกายส่วนล่างมั่นคง อีกทั้งร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้โค้ง ว่องไว และมีพลังยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเอวไม่ควรคลายมากเกินไป ถ้าเอวอ่อนไปย่อมไม่มีพลัง เช่นกันถ้าเอวใช้แรงมากเกินไปย่อมฝืดเคือง ความฝืดเคืองย่อมทำลายการคงศูนย์กลางของร่างกายภายในการเคลื่อนไหวอย่างว่องไวและการปล่อยพลังภายใน จมเอวคือยอมให้เอวจัดตัวลงตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวหน้า ถอยหลัง หรือการหมุนตัว การจมเอวจะเป็นการควบคุมศูนย์กลางของร่างกายที่ดีที่สุด สำคัญคือพึงจำไว้ว่าเอวคือศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของระยางค์ ตามหลักที่ว่า “ผสานการเคลื่อนไหวของท่อนบนและท่อนล่าง”

โดยการรวมศูนย์พลังของข้อต่อทั้งเก้าทั้งช่วงบนและช่วงล่างด้วยเอวจะทำให้สามารถปล่อยเน่ยจิ้งได้ นี่ไม่สามารถเรียนได้ในช่วงข้ามคืน หรือเรียนได้ง่ายดายโดยไม่มีอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ การบริหารต่อไปนี้มาจากท่ามือเมฆซึ่งช่วยอธิบายการใช้เอวนำการเคลื่อนไหวของแขนและมือ

-ยืนในท่าม้าสูง นำหนักทั้งสองข้างเท่ากัน แขนซ้ายอุ้มอยู่ด้านหน้าโดยฝ่ามือหันเข้าในระดับคอ ฝ่ามือขวายืดออกยังข้างขวาของร่างกายโดยฝ่ามือหันลงพื้นในระดับเอว

-ลำตัวท่อนบนค่อยๆหมุนต่อเนื่องไปทางซ้ายให้ฝ่ามือผ่านกัน ฝ่ามือซ้ายหมุนไปข้างหน้าขณะที่ฝ่ามือขวาหมุนหันฝ่ามือเข้าพร้อมเคลื่อนขึ้นด้านบน ฝ่ามือทั้งสองผ่านกันที่ระดับอก จากนั้นผ่ามือขวาเคลื่อนลงยังระดับเอวให้ฝ่ามือหันลง ฝ่ามือขวาเคลื่อนขึ้นระดับลำคอโดยหันฝ่ามือเข้าหาตัว ทำซ้ำอีกครั้งในทิศทางตรงข้าง

-การหมุนทั้งหมดควรเป็น180องศา ไปยังด้านขวาและซ้าย การบิดหมุนไม่เพียงแต่ทำให้ชำนาญในการใช้เอวแต่ยังช่วยในการนวดอวัยวะภายในของร่างกายส่วนล่าง การบริหารนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับ กระเพาะ ตับ ไต ลำไส้ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ และม้าม การบริหารนี้ยังมีประโยชน์อย่างมากต่อส่วนล่างและกระดูกสันหลัง