ต่อจาก ตอนที่ 1 (ใครที่ยังไม่เคยติดตามมา แนะนำอ่านตอนที่ 1 ก่อนนะครับ)

จงกว๋ออู่ซู่ หรือศิลปะการต่อสู้ของจีนคือวัฒนธรรมจีน คือหนึ่งในจิตวิญญาณของจีน
ศิลปะการต่อสู้ ก็คือผลึกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ของจีนจึงเป็นผลึกทางวัฒนธรรมของชาวจีนที่สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานการใช้ชีวิต, หลักปรัชญา, ความเชื่อ, และยังได้ผสานและหลอมรวมกับศาสตร์ที่เกิดจากวัฒนธรรมเดียวกันอย่างใกลล้ชิด มวยจีนบางชนิดอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตทั่วไป ทำให้สามารถแสดงมวยได้อย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา มวยบางอย่างกลับเกิดจากปรัชญาหรือความเชื่อเช่นมวยไท่จี๋ ทำให้การอธิบายบางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยหลักการเพ้อฝันไกลตัว แต่พึงเข้าใจว่าเมื่อมองจากวัฒนธรรมจีนแล้วปรัชญาเหล่านี้หาใช่สิ่งไกลตัวเลย หากแต่มันเป็นปรัชญาที่อยู่แนบแน่นกับความเชื่อและชีวิตของชาวจีนมาช้านานจนเป็นหลักการและความเชื่อเบื้องหลังวัฒนธรรมจีนอันหลากหลายและยาวนานไปแล้ว
ศิลปะการต่อสู้ของจีน คือจิตวิญญาณหนึ่งของชาวจีน มันได้แสดงถึงจิตวิญญาณด้านความแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันมันได้เน้นถึงหลักการแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนตามวิถีของเต๋าและจริยธรรมจรรยาตามหลักแห่งขงจื้อด้วย สิ่งต่างๆทางวัฒนธรรมนี้หลอมรวมเข้ากันจึงเป็นวิชามวยจีนขึ้นมา ดังนั้นการเรียนมวยจีนสำคัญคือต้องเรียน “อู่เต๋อ” 武德หรือคุณธรรมวิชามวยควบคู่ไปด้วย และน่าเสียดายที่ด้วยการพัฒนาการต่อสู้ในปัจจุบันทำให้มีคนไม่น้อยเอาเทคนิคต่างๆมาสร้างวิชามวยใหม่ๆ และเรียกมวยนั้นๆว่า “มวยจีน” พร้อมกับอ้างว่ามันร้ายกาจกว่ามวยจีนดั้งเดิม บางครั้งเอาวิชาตัวเองเป็นเครื่องมือไปดูถูกวิชาเดิม โดยที่พวกเขาลืมไปว่ามวยจีนที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของความเก่งมากน้อยหรือวิชานั้นร้ายกาจเพียงใด แต่สำคัญคือการเรียนรู้หลักคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามพร้อมๆกับการพัฒนาความเข้มแข็งของตัวเองและชนในชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ออกไปด้วยจิตสำนึกที่ดี เพื่อให้ศิลปะนี้เป็นสิ่งที่คนทุกผู้ในโลกสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความดีงามทางวัฒนธรรมนี้ร่วมกัน จริงอยู่ว่าแม้บางครั้งในวัฒนธรรมของชาวจีนเองก็มีสิ่งที่ไม่ดีแฝงอยู่ แต่นั่นไม่พึงถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการเผยแพร่มวยจีนอย่างวัตถุประสงค์ แต่พึงนำตัวอย่างที่ไม่ดีนั้นมาเป็นแนวทางแก้ไขและมุ่งพัฒนาสิ่งที่ดีๆขึ้นมา เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ขึ้นมาในสังคมมวยจีนและโลกใบนี้

ซือฝู่หรืออาจารย์ หนึ่งในความหมายด้านความอ่อนน้อมถ่อมตน และกตัญญูกตเวที
เมื่อเรียนมวยจีนย่อมต้องมีผู้ถ่ายทอดวิชาให้ แม้ว่าสมัยนี้ผู้สอนมวยจีนได้ผันสภาพไปเป็นโค้ชหรือครูฝึกที่เรียกกันว่า “เหล่าซือ” กันหมดแล้ว แต่ภายสำหรับวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมรวมทั้งวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลแล้ว คำว่า “ซือฝู่” หรือ “ซี๊ฝู” ในภาษากวางตุ้งยังเป็นหัวใจทางวัฒนธรรมอันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและรู้จักกตัญญูตามหลักขงจื้ออยู่
คำว่าซือฝู่หมายถึงอาจารย์ ไม่เพียงแค่อาจารย์มวยแต่ซือฝู่ยังใช้เรียกผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญและเป็นต้นแบบในศาสตร์วิชาใดวิชาหนึ่งด้วย แม้ดูผิวเผินก็แค่แปลว่าอาจารย์แต่แท้จริงแล้วมันมีความละเอียดอ่อนอยู่ภายใน คำว่าซือฝู่นั้นต่อผู้อื่นมันคือความเคารพให้เกียรติและแสดงถึงความอ่อนน้อมของตัวเอง ดังนั้นต่อผู้อื่นคำว่า “ฝู่” จะเขียนด้วย傅 เป็น 師傅 ทุกครั้งที่เราเรียกผู้อื่นว่าซือฝู่ มันได้แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน(ไม่ใช่เรียกกันว่า “ไอ้ห่านั้น” หรือ “ไอ้หมอนี่”) ต่อผู้ที่เป็นอาจารย์ของตน คำว่าฝู่จะเขียนด้วย 父 ซึ่งแปลว่า “พ่อ” เป็น 師父 ดังนั้นคำว่า 師父จึงแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้เป็นอาจารย์ดังพ่อของตัวเอง และผู้เป็นอาจารย์ก็ต้องรักและถ่ายทอดวิชาและจริยธรรมจรรยาด้วยความอยากให้ลูกศิษย์เป็นคนดีดังเช่นที่หวังให้ลูกตัวเองเป็น สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แม้ผิวเผินแต่กลับแสดงถึงความละเอียดอ่อนและความดีงามทางวัฒนธรรม รวมถึงหลักของขงจื้อที่ควรยึดถือแฝงอยู่ในศาสตร์วิชามวยที่เราต้องศึกษาด้วย

มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมจีน
มวยไท่จี๋ หรือไท่จี๋เฉวียน หรือ ไท่เก๊ก ตามสำเนียงกวางตุ้งและแต้จิ๋ว คือศิลปะการต่อสู้อันตกผลึกจากวัฒนธรรมเชิงปรัชญาอย่างหนึ่ง เป็นศาสตร์วิชาที่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน, โอนอ่อนผ่อนตาม และความสงบไม่ก้าวร้าว ตามหลักปรัชญาเต๋า ถือเป็นหัวใจหลักและภาพลักษณ์ที่ดีงามของชาวจีน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มวยไท่จี๋ได้รับการยอมรับในวงกว้างจนเป็นหนึ่งในตัวแทนวิชาอู่ซู่ของจีน หากพูดถึงว่ามวยที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมากที่สุดของจีนก็คงไม่พ้นมวยไท่จี๋นี่เอง
มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้ที่ได้นำเอาหลักวิชาปรัชญาของอี้จิงและเต๋ามาสู่การใช้งานในการต่อสู้ ทั้งหลอมรวมแนวคิดเรื่องการพัฒนาร่างกายและใจจิตใจมีความแข็งแรงและเข้มแข็ง เพื่อพัฒนากำลังของคนในชาติตามอย่างแนวคิดของวิชาการต่อสู้ของจีนหรือจงกว๋ออู่ซู่ มวยไท่จี๋จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสตร์วิชาที่เป็นตัวแทนหนึ่งอันเป็นจิตวิญญาณทางด้านวัฒนธรรมจีนและศิลปะการต่อสู้ของจีนได้อย่างน่าภูมิใจ และแม้ว่ามันจะเป็นศาสตร์วิชาของจีนแต่วิชาที่ดีต้องมีความเป็นสากลและเข้าถึงคนทุกผู้ทุกชนชั้นโดยไม่แบ่งชาย หญิง เด็ก แก่ ซึ่งมวยไท่จี๋นั้นไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจากชาวจีนเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในระดับโลกโดยไม่แบ่งผู้คนหรือชนชาติ ทุกคนต่างสามารถซึมซับและรับเอาผลในการใช้งาน, สุขภาพที่แข็งแรงจากการฝึก รวมถึงสามารถซึมซับรับเอาความดีงาม, ความเข้มแข็ง, หลักแห่งการครองตน, และจิตวิญญาณของวิชาจากการฝึกมวยไท่จี๋ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นมวยไท่จี๋จึงสมควรต่อการศึกษาไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังสมควรต่อการศึกษาของทุกผู้คนในโลกด้วย